การเบรคของ Fixed gear
Back pressure
back pressure คือการฝืนบันไดให้ปั่นช้าลง คนส่วนใหญ่ที่ปั่น fixed gear ครั้งแรกก็เบรคด้วยวิธีนี้ เนื่องจากบันไดของ fixed gear จะหมุนเร็วขึ้นตามความเร็วของล้อ (และรถ) การขืนให้มันหมุนช้าลงจะทำให้รถค่อยๆช้าลงและหยุดได้ในที่สุด
การหยุดแบบนี้ใช้ระยะเบรคเยอะที่สุด โอกาสที่ล้อจะไถลก็น้อยที่สุดเช่นกัน ทำให้เหมาะกับการเบรคบนถนนลื่น เช่นตอนฝนตก
Skip stop
Skip stop คือการยกล้อหลัง ทำให้ล้อหลังลอยจากพื้น (เพื่อทำให้แรงเสียดทานที่ล้อหมดไปในทันที) แล้วพอรถตกลงมาก็จะเกิดแรงเสียดทานสถิตทำให้รถลดความเร็วลงอย่างรวดเร็ว แล้วเสี้ยววินาทีถัดมาถ้าเราเกร็งขาไว้ไม่มากพอ บันไดก็จะดึงให้รถไปต่อ ถ้าเราเกร็งขาแข็งไว้พอ ล้อจะเริ่มไถลกลายเป็นแรงเสียดทานจลน์ เกร็งขาต่อไปก็จะหยุดรถได้ แต่ใช้ระยะเบรคเยอะเพราะแรงเสียดทานจลน์หยุดรถได้ไม่ดีมาก (ขึ้นกับดอกยางและพื้นถนน) ส่วนใหญ่ก็จะแก้สถานการณ์โดยการยกล้อหลังอีกที
การยกล้อหลังฟังดูยาก แต่จริงๆแล้วคือการกระโดดธรรมดานี่เอง (แต่ต้องไม่เผลอดึงล้อหน้าขึ้นมาด้วยนะ ไม่งั้นจะเป็นกระโดดสองล้อ) เพราะปรกติเท้าเราจะติดกับสายรัดหรือตะกร้ออยู่แล้ว พอเราย่อขาแล้วยืนเร็วๆ (กระโดด) ครึ่งหลังของจักรยานก็จะติดขึ้นมาเอง
Skid stop
การ Skid คือการล็อคขาให้บันไดหยุดทันที ถ้ารถเคลื่อนที่ช้ารถจะหยุดด้วยแรงเสียดทานสถิต ถ้ารถเคลื่อนที่เร็วเกินกว่าแรงเสียดทานสถิตจะเอาอยู่ ล้อหลังจะเริ่มไถลเกิดแรงเสียดทานจลน์ ซึ่งก็หยุดรถได้ แต่จะใช้ระยะเบรคค่อนข้างเยอะ
การ skid มีหลายท่า ทั้ง mid skid, front skid, whip skid, seat skid
- mid skid — ยืนขึ้นแล้วล็อคขา ให้ล้อหลังไถลจนหยุด ผมรู้สึกว่าอันนี้ง่ายสุด เป็นอันแรกที่ผมทำเป็น
- front skid — ยืนขึ้นแล้วโน้มตัวไปพิงแฮนด์ การถ่ายน้ำหนักไปด้านหน้าทำให้ล้อหลังไถลได้ง่ายขี้นเพราะแรงที่กดลงล้อน้อย ระยะเบรคจะยาวขึ้น ไม่เหมาะใช้หนีตาย เหมาะใช้เล่นสนุก หรือไถลลงเนินเพราะขี้เกียจปั่น
- whip skid — คล้าย mid skid แต่สะบัดเอวออกข้าง สำหรับผมมันเกิดขึ้นเองตอนเหนื่อยๆ แล้วทำ mid skid พลาด แต่ทำไปเรื่อยๆก็เริ่มควบคุมให้ล้อหลังไถลออกข้างได้ ดีกว่า mid skid ตรงที่หน้ายางของล้อหลังจะเปิดออก (เพราะท้ายปัด) ทำให้ระยะเบรคสั้นลง แต่กินพื้นที่ด้านข้างเวลาเบรค ไม่เหมาะจะใช้บนถนน เพราะรถที่ตามมาจะคาบเราไปกินได้
- seat skid — เหมือนจะง่ายมาก แต่ยากมากสำหรับผม เพราะขาไม่แข็งแรงพอ ถ้าไม่มาเร็วจริงๆจะหยุดไม่ได้ บางครั้งขาอาจจะหลุดจากตะกร้อ หรือรองเท้าหลุดเลยก็มี seat skid จะใช้ระยะเบรคน้อยสุดในบรรดาท่า skid ทั้งหลาย เพราะน้ำหนักตัวเรากดอยู่ที่ล้อหลัง อย่างไรก็ตาม ยังไม่เหมาะจะใช้กับถนนลื่นเพราะอาจจะหยุดไม่ทันอยู่ดี
การ skid ถ้าทำเป็นแล้วค่อนข้างสะดวกเพราะเราระเบิดแรงออกมา (ทั้งแขน, ทั้งขา, ทั้งลำตัว) เพื่อ ทำลายแรงเสียดทานสถิตให้กลายเป็นแรงเสียดทานจลน์ หลังจากนั้นจะใช้แรงน้อย เพราะเราอาศัยดอกยางล้อหลังเป็นคนเบรค ถ้า skid บ่อยๆควรเช็คดอกยางล้อหลังทุกๆเดือน และน่าจะต้องเปลี่ยนทุกๆ 3 เดือน
การ skid อาศัยการไถลของรถ ฉะนั้นยางหลังมีความสำคัญมาก ยางแต่ละเส้นจะให้ความรู้สึกไม่เหมือนกัน ระยะเบรคไม่เท่ากัน เวลาเพิ่งเปลี่ยนยางใหม่ควร skid เล่นๆในที่ปลอดภัยเพื่อทำความคุ้นเคยกับมันก่อน
การทำให้ล้อไถลจะทำได้ง่ายบนถนนลื่น เหมาะจะใช้เล่นสนุก แต่การ skid ไม่เด่นเรื่องความปลอดภัย ไม่ควรใช้หนีตาย ถ้าจะใช้ เราต้องรู้ว่าความเร็วเท่าไหน สถานการณ์แบบไหน ใช้แต่ละท่าจะใช้ระยะเบรคเท่าไหร่ มีรถตามมามั๊ย เรามีพื้นที่ข้างๆให้ไถลไปหรือเปล่า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น